การวิเคราะห์วอแรนต์ (Warrant) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหลักทรัพย์ 

นอกจากหุ้นสามัญที่มีการซื้อขายกันอยู่มากในตลาดหลักทรัพย์แล้วใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหลักทรัพย์ หรือ วอแรนต์ ก็เป็นตราสารอีกประเภทหนึ่ง ที่นักลงทุนนิยมซื้อขายกัน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรทราบถึงวิธีการวิเคราะห์ราคาของวอแรนต์ไว้ด้วราคาวอแรนต์จะมีค่าเท่ากับมูลค่าถ้าใช้สิทธิบวกด้วยมูลค่าของเวลาคำว่ามูลค่าถ้าใช้สิทธิหมายถึง มูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิ หลังจากทำการใช้สิทธิแล้ว หรือเท่ากับราคาหุ้นแม่ ลบราคาใช้สิทธิหรือ exercise price

ส่วนมูลค่าของเวลา คือ มูลค่าของ warrant ซึ่งจะเท่ากับราคาของ warrant ลบมูลค่าถ้าใช้สิทธิ หรือ Intrinsic Value ดังนั้นโดยปกติแล้วเมื่อ warrant ยิ่งใกล้วันหมดอายุ มูลค่าของเวลาจะมีค่าน้อยครับ นอกจากนี้ยังมีค่าอื่นๆ อีกนะครับ ได้แก่ Gearing Ratio หรืออัตราทด ส่วนเกินราคา หรือ Premium และค่าความอ่อนไหว หรือ Delta

มาดูกันทีละรูปแบบครับ การพิจารณาอัตราทด หรือ Gearing Ratio คือ ค่าอัตราส่วนระหว่าง ราคาหุ้น หรือ P กับ ราคาวอแรนต์ของหุ้นนั้น หรือ W และคูณด้วยอัตราส่วนแปลงสภาพค่านี้เป็นตัวบอกอัตราการเปลี่ยนแปลงโดยประมาณของผลตอบแทนของราคาวอแรนต์ ว่าสูงเป็นกี่เท่าของอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ดังนั้นหาก Warrant ตัวใดมีค่า Gearing Ratio สูงก็แสดงว่ามีการเคลื่อนไหวของราคาสูง

 สำหรับอัตราส่วนแปลงสภาพ หมายถึง อัตราส่วนของการใช้สิทธิของผู้ถือ Warrant ในการเปลี่ยนเป็นหุ้นตัวแม่ เช่นถ้าอัตราส่วนการแปลงสภาพ คือ 1:2 หมายความว่า ถ้านักลงทุนถือ Warrant ของหุ้น B 1 ตัว จะสามารถเปลี่ยนเป็นหุ้น B ได้ 2 หุ้น หรือ ถ้าอัตราส่วน 3:1 ก็จะหมายความว่า นักลงทุนต้องมี Warrant 3 ตัว เพื่อจะสามารถเปลี่ยนเป็นหุ้น B ได้ 1 หุ้น

ต่อไปเป็น ส่วนเกินราคา หรือค่า Premium จะทำหน้าที่คล้ายกับ P/E Ratio ที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นสามัญ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง premium ก็คือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความถูก หรือแพงของวอแรนต์อย่างง่ายนั่นเอง

ซึ่งส่วนเกินราคานั้น สามารถออกได้เป็น 3 ประเภท คือ Exercise Premium หรือส่วนเกินราคาใช้สิทธิ Warrant Premium หรือ ส่วนเกินราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ และ All-in Premium หรือส่วนเกินราคาโดยรวม ลองมาดู Premium ประเภทแรกกันก่อนครับ ส่วนเกินราคาใช้สิทธิ จะใช้ในการวัดว่า ราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาหุ้นร้อยละเท่าไร โดยนำเอา ราคาใช้สิทธิลบออกด้วยราคาหุ้น และนำผลลัพธ์ที่ได้ไปหารด้วยราคาหุ้น และคูณด้วย 100 เพื่อให้ค่าที่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับราคาหุ้น Premium ประเภทที่สอง เรียกว่า Warrant Premium หรือส่วนเกินราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ ใช้ในการวัดว่าราคาของ warrant คิดเป็นร้อยละเท่าไรของราคาหุ้น โดยการนำเอา ราคาวอแรนต์หารด้วยราคาหุ้น
และ Premium ประเภทสุดท้ายคือ
All-in premium หรือส่วนเกินราคาโดยรวม จะใช้ในการวัดว่าต้นทุนสำหรับการซื้อหุ้นโดยการใช้สิทธิของวอแรนต์ สูงกว่าการซื้อหุ้นโดยตรงคิดเป็นร้อยละเท่าไร ส่วนเกินราคาโดยรวมนี้ จะเท่ากับผลรวมของส่วนเกินราคาใช้สิทธิ หรือ Exercise Premium และส่วนเกินราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Warrant Premium 
และสุดท้าย
Delta หรือค่าความอ่อนไหวของราคา Warrant หรือ Sensitivity  คือ ความอ่อนไหวของราคา Warrant ต่อราคาของหุ้นแม่ เป็นตัวบอกว่า เมื่อหุ้นแม่มีราคาเปลี่ยนไป 1 บาท Warrant จะมีราคาเปลี่ยนไปเท่าใด โดยค่า Delta จะมีค่าตั้งแต่ 0 จนถึง 1 ยกตัวอย่างเช่น Warrant A มีค่า Delta = 0.12 หมายความว่า หากหุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 1 บาท Warrant จะมีราคาเพิ่มขึ้น 0.12 บาท หรือหากหุ้น A มีราคาลดลง 1 บาท Warrant ก็จะมีราคาลดลง 0.12 บาท เป็นต้น

นอกจากค่า Delta แล้ว ยังมีค่า Delta Elasticity ซึ่งคล้ายกับค่า Delta แต่จะแตกต่างกันตรงที่ มีหน่วยการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นจำนวนเท่าของหุ้นแม่สำหรับค่าตัวเลขทั้งหลายนี้นักลงทุน สามารถหาข้อมูลได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไป หรือจากข้อมูลบทวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์